ภูมิหลังและสถานะปัจจุบัน

ภูมิหลังและสถานะปัจจุบัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 19 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 11 พ.ค. 2566

| 14,683 view

ความสัมพันธ์กับประเทศไทย

 ๑.   ความสัมพันธ์ทั่วไป

ตั้งแต่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๑๘ (ครบรอบ ๔๐ ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี ๒๕๕๘) ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์   มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดและราบรื่น โดยประเทศไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๓๕ และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี  เมื่อเดือนพฤศจิกายน ๒๕๓๗  ปัจจุบัน นายสรยุทธ ชาสมบัติ ได้ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี (เดินทางมารับตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๖๕) 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ๒๕๔๑ โดยมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทยคนปัจจุบันคือ นาย Obaid Saeed Al Dhaheri 

๑.๑ การเมือง

ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น โดยปัจจุบันทั้งสองฝ่ายมีกลไกดำเนินความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี คือ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (Joint Commission Meeting on Economic, Trade and Technical Cooperation-JC) ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ โดยได้จัดการประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ ที่กรุงเทพฯ โดยมีนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทย และ Sheikh Abdulla Bin Zayed Al Nahyan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศยูเออีเป็นประธานร่วม

การแลกเปลี่ยนการเยือน การเยือนล่าสุดของฝ่ายไทย พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเดินทางไปเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างเป็นทางการ ระหว่างวันที่ ๒๓ – ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ ส่วนฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สมาชิกราชวงศ์และผู้บริหารระดับสูงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์และส่วนตัวเป็นระยะ ล่าสุด เชคคา โบดัว บินต์ ซุลตาน อัล กาซิมี (Sheikha Bodour bint Sultan Al Qasimi) ธิดาเจ้าผู้ครองรัฐชาร์จาห์ ได้เดินทางมาเยือนประเทศไทย เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เพื่อร่วมงานสัปดาห์หนังสือนานาชาติ และการเสด็จเยือนของ Sheikh Abdulla Bin Zayed Al Nahyan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ไทย-ยูเออี ครั้งที่ ๑ ระหว่างวันที่ ๑๑-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ และการเยือนประเทศไทยเพื่อหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศไทยในปี ๒๕๖๐

การสนับสนุนบทบาทระหว่างกันในเวทีระหว่างประเทศ ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  มีความสัมพันธ์ที่ดีในการแลกเสียงระหว่างกัน ที่ผ่านมา ได้มีการตกลงแลกเสียงระหว่างการสมัครตำแหน่งสมาชิกไม่ถาวรคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติของประเทศไทย วาระปี ๒๕๖๐ –  ๒๕๖๑ กับการสมัครเป็นเจ้าภาพงานมหกรรมโลกที่ดูไบ (Dubai Expo ๒๐๒๐) ซึ่งดูไบได้รับเลือก ล่าสุด สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ให้การสนับสนุนการลงสมัครรับเลือกตั้งของไทยในตำแหน่ง IMO Council วาระ ค.ศ. ๒๐๑๗-๒๐๑๙ ของไทย

๑.๒   เศรษฐกิจ

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าอันดับ ๑ ของประเทศไทยในตะวันออกกลาง โดยในปี ๒๕๕๙ มีมูลค่าการค้ารวม ๘.๙ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยส่งออก ๒.๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และนำเข้า ๕.๙๘ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประเทศไทยขาดดุลการค้า ๓.๑๑  ล้านดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับปี ๒๕๖๐ – ข้อมูล มค.-ตค. ๒๕๖๐: มีมูลค่าการค้ารวม ๘.๕๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยประเทศไทยส่งออก ๒,๓๓ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  และนำเข้า ๖.๒๔ ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประเทศไทยขาดดุลการค้า ๓,๙๑๕  ล้านดอลลาร์สหรัฐ) สินค้าส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบรถยนต์ อัญมณี ชิ้นส่วนเครื่องปรับอากาศ ชิ้นส่วนเครื่องคอมพิวเตอร์ ส่วนสินค้านำเข้าของประเทศไทยจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะ น้ำมันสำเร็จรูป เคมีภัณฑ์

นอกจากนั้น สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังเป็นแหล่งนำเข้าน้ำมันอันดับ ๑ ของประเทศไทยในโลก ในปี ๒๕๕๙ ประเทศไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากยูเออีเป็นมูลค่า ๔,๖๘๓.๘๗ ล้านดอลลาร์สหรัฐ  คิดเป็นร้อยละ ๓๐.๖ ของปริมาณน้ำมันที่ประเทศไทยนำเข้าทั้งหมด  (รองลงมาเป็นซาอุดีอาระเบีย ๒๓.๖% และมาเลเซีย ๙.๒%) ในขณะที่ไทยเป็นผู้ซื้อน้ำมันดิบจากยูเออีเป็นอันดับที่สอง รองจากญี่ปุ่น โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาขน) นำเข้าจาก Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) ภายใต้สัญญาการซื้อขายน้ำมันโดยไม่ผ่านคนกลางตั้งแต่ปี ค.ศ. ๑๙๙๔

๑.๓   การลงทุน

ภาคเอกชนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีการลงทุนในประเทศไทยในหลายด้าน อาทิ

การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ เช่น โครงการสาธรสแควร์ ของกลุ่ม Istithmar Hotel FZE ของรัฐดูไบ และ Islamic Hotel Chain ของ Al Mulla Group รัฐดูไบ การลงทุนในการประกอบการท่าเทียบเรือของกลุ่มดูไบ เวิลด์ (Dubai World) ผ่านบริษัทแหลมฉบังอินเตอร์เนชั่นแนล เทอร์มินอล จำกัด นอกจากนี้ ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ยังมีความร่วมมือที่ใกล้ชิดด้านพลังงาน โดยในปัจจุบัน บริษัท Mubadala Petroleum ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งร่วมทุนกับบริษัท Tap Energy Pty Ltd. ของออสเตรเลีย และบริษัท Northern Gulf Petroleum Pte. Ltd. ของประเทศไทย ได้รับสัมปทานการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย ๓ แหล่ง (แหล่งจัสมิน แหล่งมโนราห์ และแหล่งนงเยาว์) โดยโครงการดังกล่าวมีมูลค่าการลงทุนประมาณ ๓๐๐ ล้านดอลลาร์สหรัฐ

ในส่วนของประเทศไทยบริษัทเครือ ปตท. และบริษัทสยามซีเมนต์ (SCG) ได้ตั้งสำนักงานใน รัฐดูไบ นอกจากนี้ เครือโรงแรมดุสิตธานี (Dusit Thani Abu Dhabi, Dusit Thani Dubai, DusitD๒ Kenz Hotel, Dubai) และเครือโรงแรมอนันตาราได้เข้าไปดำเนินการด้านการบริหารจัดการโรงแรม

เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๕๓ ผู้ประกอบการไทยในยูเออีได้จัดตั้งสภาธุรกิจไทย (Thai Business Council) เพื่อเป็นกลไกให้ข้อมูลข่าวสารและสนับสนุนการประกอบการและการรวมตัวกันของภาคเอกชนไทย

เมื่อเดือนมกราคม ๒๕๖๒ บริษัท ปตท. สผ. ได้ลงนามในสัมปทานการสำรวจปิโตรเลียมในแปลงออฟชอร์ 1 (Offshore 1) และแปลงออฟชอร์ 2 (Offshore 2) ร่วมกับพันธมิตรใหม่ บริษัท อีเอ็นไอ (Eni) ผู้ผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติรายใหญ่ของอิตาลี จากการที่ยูเออีได้เปิดประมูลสัมปทานเป็นครั้งแรกของประเทศ ซึ่งเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้ ปตท.สผ.ได้เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพปิโตรเลียมสูงแห่งหนึ่งของโลก 

๑.๔   การท่องเที่ยว

ในปี ๒๕๖๑ มีนักท่องเที่ยวจากยูเออีเดินทางมาประเทศไทย รวมจำนวนประมาณ ๑๐๘,๐๐๐ คน (สถิติปี ๒๕๖๐ จำนวน ๑๒๐,๐๐๐ คน) โดยนักท่องเที่ยวจากยูเออี กว่าร้อยละ ๖๐ นิยมเดินทางมาตรวจสุขภาพและรับการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

ขณะที่เมืองดูไบเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในตะวันออกกลาง โดยมีคนไทยเข้ามาท่องเที่ยวในยูเออีประมาณ ๔๐,๐๐๐ คน เมื่อปี ๒๕๖๑

การบินไทยมีเที่ยวบินตรง กรุงเทพ – ดูไบ ๗ เที่ยว/สัปดาห์ สายการบิน Etihad Airways แห่งรัฐอาบูดาบี มีเที่ยวบินตรงอาบูดาบี – กรุงเทพ ๒๑ เที่ยว/สัปดาห์ และอาบูดาบี-ภูเก็ต ๗ เที่ยว/สัปดาห์ และสายการบิน Emirates แห่งรัฐดูไบ มีเที่ยวบินตรงดูไบ-กรุงเทพ ๓๕ เที่ยว/สัปดาห์ และดูไบ – ภูเก็ต ๗ เที่ยว/สัปดาห์

๑.๕   ชุมชนไทย

ปัจจุบัน มีคนไทยอาศัยอยู่ในยูเออีประมาณ ๗,๐๐๐ คน (ข้อมูลสถานะ ต.ค. ๒๕๖๐) ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือและทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการก่อสร้าง ธุรกิจบริการ  (นวด ผู้ประกอบอาหาร ฯลฯ)           

๒.   ความตกลงที่สำคัญกับประเทศไทย

ประเทศไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความตกลงและบันทึกความเข้าใจที่ลงนามแล้ว ๗ ฉบับ  ซึ่งครอบคลุมความร่วมมือด้านต่าง ๆ เช่น ความมั่นคง การส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุน การยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน การร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ เป็นต้น

๓.   การเยือนที่สำคัญ

๓.๑   ฝ่ายไทย

-     ๙ – ๑๐ มิถุนายน ๒๔๔๑ นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

-    วันที่ ๑๕ – ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๗ นายสุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

-   วันที่ ๒๒ – ๒๔ เมษายน ๒๕๕๐ นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ เดินทางเยือนราชอาณาจักรบาห์เรนและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ 

-   วันที่ ๒๒ – ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๔ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

-   วันที่ ๒๗ – ๒๘ มิถุนายน ๒๕๕๕ นายสุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุม High-Level Public-Private Counter Piracy Conference ครั้งที่ ๒ ที่เมืองดูไบ

-  วันที่ ๒๓ – ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๘ พลเอก ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

- มกราคม ๒๕๕๙ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อเข้าร่วมการประชุม IRENA Assembly ครั้งที่ ๖ ณ กรุงอาบูดาบี

-  วันที่ ๑๑-๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๙ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

- มกราคม ๒๕๖๐ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อเข้าร่วมการประชุม ACD Ministerial Meeting ครั้งที่ ๑๕ ที่กรุงอาบูดาบี

- มกราคม ๒๕๖๐ พลเอกอนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อเข้าร่วมการประชุม IRENA Assembly ครั้งที่ ๗ ณ กรุงอาบูดาบี

- ตุลาคม ๒๕๖๐ พลเอก ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อเข้าร่วมการประชุม World Skill ณ กรุงอาบูดาบี

- ๑๑- ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ ดร. ศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อเข้าร่วมการประชุม Abu Dhabi Petroleum International Exhibition (ADIPEC) 

- ๒๐-๒๓ มีนาคม ๒๕๖๒ นายวีระ โรจน์พจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เพื่อพบหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมและการพัฒนาความรู้ยูเออี่ และเป็นประธานพิธีเปิดงานเทศกาลไทย ปี ๒๕๖๒

๓.๒   ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

  พระราชวงศ์

-   ปี ๒๕๔๖ เชค โมฮัมเมด บิน ไซอิด อัล นะห์ยัน (Sheikh Mohammed bin Zayed   Al Nahyan) รองมกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี (พระยศในขณะนั้น) เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์

-   วันที่ ๑๒  – ๑๓ มิถุนายน ๒๕๔๙ เชค โมฮัมเมด บิน ไซอิด อัล นะห์ยัน (H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan) มกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี และรองผู้บัญชาการทหารสูงสุดของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสด็จร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ ๖๐ ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

-   เดือนมีนาคม ๒๕๕๒ เชค ฮามดาน บิน ไซอิด อัล นะห์ยัน (H.H. Sheikh Hamdan bin Zayed Al Nahyan) อดีตรองนายกรัฐมนตรี และพระอนุชาของประธานาธิบดีสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์

-   เดือนมีนาคม ๒๕๕๘ เชคคา โบดัว บินต์ ซัลตาน อัล กาซิมี (Sheikha Bodour bint Sultan Al Qasimi) ธิดาเจ้าผู้ครองรัฐชาร์จาห์ เสด็จเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนพระองค์เพื่อร่วมงานหนังสือนานาชาติ

รัฐบาล

-   เดือนพฤษภาคม ๒๕๒๐ เชค อาเมด คอลิฟะห์ อัล ซูเวย์ดี (Sheikh Ahmed Khalifa Al Suweidi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเยือนประเทศไทย ตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

-   วันที่ ๓ – ๕ ตุลาคม ๒๕๕๕ เชคคา ลุบนา บินต์ คาหลิด อัล กาซิมี (Sheikha Lubna Bint Khalid Al Qasimi) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการค้าต่างประเทศ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเยือนประเทศไทยตามคำเชิญของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์

-    วันที่ ๑๑-๑๒ พฤษภาคม ๒๕๕๙ เชค อับดูลลา บิน ไซอิด อัล นะห์ยัน (H.H. Sheikh Abdulla Bin Zayed Al Nahyan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเยือนประเทศไทย เพื่อเข้าร่วมเป็นประธานร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการไทย-ยูเออี 

- วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ เชค อับดูลลา บิน ไซอิด อัล นะห์ยัน (H.H. Sheikh Abdulla Bin Zayed Al Nahyan) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศและความร่วมมือระหว่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเยือนประเทศไทยเป็นการส่วนตัว โดยในโอกาสดังกล่าวได้พบหารือกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

*********************************************
 
                                                                                                สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี
                                                                                                                     มีนาคม ๒๕๖๒