3,871 view

ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทย-สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

 

1. ความสัมพันธ์ทั่วไป

ไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2518 (ค.ศ. 1975) (ครบรอบ 45 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตในปี 2563 (ค.ศ. 2020)) ซึ่งที่ผ่านมาความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างราบรื่น โดยประเทศไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม 2535 (ค.ศ. 1992) และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2537 (ค.ศ. 1994) ปัจจุบัน นายวราวุธ ภู่อภิญญา ดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี (เดินทางไปรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2562 (ค.ศ. 2019)) และนายชัยรัตน์ ศิริวัฒน์ ดำรงตำแหน่งกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ (เดินทางไปรับตำแหน่งเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2562 (ค.ศ. 2019))

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน 2541 (ค.ศ. 1998) โดยมีเขตอาณาครอบคลุมสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและราชอาณาจักรกัมพูชา เอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทยในปัจจุบันคือ นายซัยฟ์ อับดุลลอฮ์ มุฮัมมัด คอลฟาน อัชชามิซีย์ (Saif Abdulla Mohammed Khalfan AlShamisi) (เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทเพื่อทูลเกล้าฯ ถวายพระราชส์นตราตั้งเมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2558 (ค.ศ. 2015))

 

1.1 การเมือง

ประเทศไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน และความร่วมมือที่ผ่านมาเป็นไปอย่างราบรื่น โดยปัจจุบันทั้งสองฝ่ายมีกลไกดำเนินความสัมพันธ์ในระดับทวิภาคี คือ การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ (Joint Commission on Economic, Trade and Technical Cooperation: JC) ในระดับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งจัดการประชุมครั้งที่ 2 ผ่านระบบทางไกลเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2564 (ค.ศ. 2021)

 

1.2 การค้า

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไทยในตลาดโลก และเป็นอันดับที่ 1 ของไทยในตะวันออกกลาง การค้าสองฝ่ายในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค. – มิ.ย.) ปี 2565 (ค.ศ. 2022) มีมูลค่า 11,067.54 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวร้อยละ 117.75 จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (ไทยส่งออก 1,624.94 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นำเข้า 9,442.60 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขาดดุลการค้า 7,817.66 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) - ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2565

สินค้าส่งออกที่สำคัญจากไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องโทรสาร โทรศัพท์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เป็นต้น

สินค้านำเข้าที่สำคัญจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ เคมีภัณฑ์ เป็นต้น

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประเทศที่มีกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ (sovereign wealth fund) เป็นอันดับต้นของโลก โดยได้ลงทุนในประเทศต่าง ๆ ในหลายประเทศ อาทิ การร่วมทุนในโครงการสร้างท่อลำเลียงก๊าซธรรมชาติทางตอนเหนือของยุโรป การซื้อการบริหารจัดการโรงแรมหลายแห่งในออสเตรเลีย และการลงทุนในแหล่งท่องเที่ยว/สถานศึกษาที่สำคัญ อาทิ พิพิธภัณฑ์ Lourve พิพิธภัณฑ์ Guggenheim และมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก เป็นต้น

 

1.3 การลงทุน

ในปี 2563 (ค.ศ. 2020) สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ลงทุนในประเทศไทย มูลค่าประมาณ 17.29 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยภาคเอกชนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นตามลำดับที่สำคัญ เช่น การลงทุนด้านพลังงานของบริษัท Mubadala การลงทุนในโครงการอสังหาริมทรัพย์ (โครงการสาธรสแควร์ของกลุ่ม Istithmar Hotel FZE ดูไบ และ Islamic Hotel Chain ของ Al Mulla Group ดูไบ) และกลุ่ม Dubai Holdings ได้ซื้อหุ้นเพิ่มทุนจำนวน 800 ล้านหุ้น หรือร้อยละ ๑๕ ของบริษัท ธนายง วิศวกรรม จากัด เป็นต้น

 

บริษัทไทยได้เข้าไปดำเนินการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เช่น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) และบริษัท สยามซีเมนต์ กรุ๊ป จำกัด ได้ไปตั้งสำนักงานในดูไบ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จากัด (มหาชน) และบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จากัด (มหาชน) ทั้งนี้ บริษัท ซิโน--ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) ได้รับงานในภาคการก่อสร้าง และเครือโรงแรมดุสิตธานี และเครือโรงแรมอนันตาราได้เข้าไปดำเนินการด้านการบริหารจัดการโรงแรม เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2553 (ค.ศ. 2010) ผู้ประกอบการไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้จัดตั้ง สภาธุรกิจไทย – ดูไบ (Thai – Dubai Business Council) เพื่อเป็นกลไกให้ข้อมูลข่าวสารและสนับสนุน การประกอบการและการรวมตัวกันของภาคเอกชนไทยในดูไบ

 

1.4 ด้านแรงงาน

ปัจจุบัน มีแรงงานไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 3,700 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ ในภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ธุรกิจบริการ และธุรกิจก่อสร้าง

 

1.5 ด้านความสัมพันธ์ระดับประชาชน

1.5.1 ด้านการท่องเที่ยว

นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาไทยมากเป็นอันดับ 2 ของตะวันออกกลาง รองจากอิสราเอล โดยในปี 2562 (ค.ศ. 2019) นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาไทย จำนวน 145,530 คน ขณะที่เมืองดูไบเป็นเมืองที่นักท่องเที่ยวไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในตะวันออกกลาง ทั้งนี้ ก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19 การบินไทยมีเที่ยวบินตรงเส้นทางกรุงเทพฯ – เมืองดูไบ สายการบิน Etihad Airways แห่งรัฐอาบูดาบีมีเที่ยวบินตรงเส้นทางกรุงอาบูดาบี – กรุงเทพฯ และสายการบิน Emirates แห่งรัฐดูไบมีเที่ยวบินตรงเส้นทางเมืองดูไบ –– กรุงเทพฯ และเมืองดูไบ – ภูเก็ต

 

นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2556 (ค.ศ. 2013) คนชาติสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ที่เดินทางเข้ามารับการรักษาพยาบาลในประเทศไทยได้รับการยกเว้นการตรวจลงตราเพื่อพำนักในประเทศไทย

 

1.5.2 ด้านสังคม

รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ชุมชนมุสลิมในประเทศอาเซียน รวมทั้งประเทศไทย โดยอาศัยองค์กร/มูลนิธิต่าง ๆ เช่น มูลนิธิ Sheikh Zayed Foundation องค์กร General Authority of Islamic Affairs and Endowments และ Red Crescent Society เป็นต้น

 

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ให้การสนับสนุนชุมชนมุสลิมในประเทศไทย ผ่านการดำเนินการของสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย อาทิ การบริจาคเงินสร้างมัสยิดและโรงเรียน สอนศาสนาอิสลามการให้เงินสนับสนุนงบประมาณเลี้ยงอาหารละศีลอด ผู้ต้องขังมุสลิมในเรือนจำทั่วประเทศไทยในช่วงเดือนรอมฎอน และการให้เงินช่วยเหลือชาวไทยมุสลิมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ให้เดินทางไปประกอบพิธีฮัจย์ได้ไม่เกิน 90 วัน

 

 

ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2565 

 

 

********************