วันที่นำเข้าข้อมูล 14 ก.ย. 2562
วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565
ข้อมูลควรทราบสำหรับผู้ที่จะพำนักอาศัยระยะยาวในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)
----------------------------------------------
หมายเหตุ: สามารถศึกษาข้อมูลจากหน้าเพจ “ข้อมูลควรทราบสำหรับผู้เดินทางมายูเออีระยะสั้น” ซึ่งมีข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นและควรทราบในเบื้องต้น
1. การเตรียมตัวเพื่อการเดินทาง
1.1 การขอรับการตรวจลงตราสำหรับตนเองและครอบครัว
ผู้ที่จะเดินทางมาทำงานซึ่งได้รับการตรวจลงตราประเภท Employment Visa เมื่อท่านเดินทางถึงยูเออีแล้ว จะต้องตรวจสุขภาพและเดินเรื่องเอกสารตามขั้นตอนของทางการยูเออีเพื่อขอรับอนุญาตให้มีถิ่นที่อยู่ (Residence Permit) และใบอนุญาตทำงาน (Labour Card) หลังจากนั้น ท่านจึงจะสามารถนำครอบครัวมาพำนักอยู่ด้วยที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ โดยตนเองเป็นสปอนเซอร์ขอ Residence Visa ให้แก่ครอบครัว
ทั้งนี้ ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่หัวข้อ “วีซ่าเข้ายูเออีสำหรับคนไทย” ในหน้าหลักของเว็บไซต์
นอกจากนี้ เมื่อท่านได้รับ Residence Permit แ้ล้ว จะต้องติดต่อสำนักงาน Emirates Identity Authority เพื่อขอทำบัตรประจำตัว Emirates ID ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญที่ต้องใช้ในการติดต่อธุระแทบทุกเรื่อง เช่น การซื้อซิมการ์ดโทรศัพท์ การรักษาพยาบาล เป็นต้น
1.2 การติดต่อที่เรียนให้บุตร / ระบบการศึกษา
ทั่วไป
- ระบบการศึกษายูเออีคล้ายกับของไทย คือ ประถมศึกษา 6 ปี มัธยมศึกษา 6 ปี และปริญญาตรี 4 ปี
- แทบทุกสถาบันใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาหลักในการสอน ยกเว้นในสถาบันหรือมหาวิทยาลัยที่มีหลักสูตรการสอนด้านศาสนาหรืออิสลามศึกษา
- สถาบันการศึกษาภาครัฐทั้งหมดและเอกชนบางแห่ง จะมีการแยกชั้นเรียนและพื้นที่ในสถานศึกษาสำหรับเพศชาย-หญิง เพื่อไม่ให้ปะปนกัน
ระดับอนุบาล ยูเออีมีโรงเรียนอนุบาลหลายแห่ง มีหลักสูตรก่อนวัยเรียนทั้งแบบอังกฤษ และอเมริกา เวลาเรียนส่วนใหญ่จะอยู่ระหว่าง 8.30 – 13.00 น.
ระดับประถม-มัธยมศึกษา โดยทั่วไปชาวต่างชาติจะต้องเข้าศึกษาในสถาบันการศึกษาของเอกชนเท่านั้น อาบูดาบีมีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่ง และมีหลายหลักสูตร โดยทั่วไปภาคการศึกษาจะแบ่งเป็น 3 ภาค คือ ก.ย. – ธ.ค. / ม.ค.-มี.ค. / เม.ย.- มิ.ย.
การสมัครสามารถทำได้ในช่วงที่เดินทางมาถึง โดยขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันการศึกษา โดยทั่วไปจะมีการทดสอบโดยนัดวันให้นักเรียนทำข้อสอบเข้า เพื่อใช้ประกอบการพิจารณารับเข้าศึกษา เอกสารที่ควรเตรียม ได้แก่ ใบรายงานผลการเรียนล่าสุดจากสถานศึกษาเดิม (ผ่านการรับรองจากกระทรวงศึกษาธิการไทย กระทรวงการต่างประเทศไทย และสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประจำประเทศไทย) สำเนาหนังสือเดินทางของนักเรียนและผู้ปกครอง สำเนาสูติบัตร รูปถ่าย ประวัติการฉีดวัคซีนและประวัติทางการแพทย์ และ Transfer certificate
ระดับอุดมศึกษา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มีสถาบันอุดมศึกษารัฐบาล 3 แห่ง ซึ่งในจำนวนนั้นมี Zayed University เพียงแห่งเดียวที่เปิดรับนักศึกษาต่างชาติ แต่นอกจากนี้ ยังมีสถาบันเอกชนอีกหลายแห่ง ซึ่งรวมถึงสาขาของมหาวิทยาลัยชื่อดัง เช่น New York University Abu Dhabi และ Paris-Sorbonne University Abu Dhabi เป็นต้น โดยสามารถค้นหารายชื่อสถาบันเอกชนที่รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์รับรองได้ที่ https://www.caa.ae/caaweb/DesktopModules/InstPrograms.aspx
สถาบันที่สอนภาษาอาหรับแก่ชาวต่างชาติ มีหลายแห่ง อาทิ British Council และ Mother Tongue Institute เป็นต้น
1.3 การเตรียมของใช้และเอกสารส่วนตัว
ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ สามารถหาซื้อได้ง่ายในยูเออีตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปและมีตัวเลือกหลากหลาย รวมถึงวัตถุดิบประกอบอาหารไทย/อาหารเอเชียหลายประเภท เนื่องจากมีชาวต่างชาติจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาศัยอยู่มาก
เอกสารส่วนตัวที่ควรนำมาด้วย อาทิ ใบขับขี่ เอกสารการศึกษา บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สูติบัตร ทะเบียนสมรส รูปถ่ายขนาด 2 นิ้ว (พื้นหลังสีขาวหากเป็นไปได้) หรือหากมีการทำธุรกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานราชการทั้งของไทยและยูเออี ขอให้ดำเนินการรับรองเอกสารผ่านกรมการกงสุล (ถนนแจ้งวัฒนะ) และสถานเอกอัครราชทูตยูเออีประจำประเทศก่อนเดินทาง
1.4 การจัดส่งของใช้ส่วนตัวไปจากประเทศไทย (ทางอากาศ / ทางเรือ)
สามารถจัดส่งได้ทั้งทางอากาศและทางเรือ โดยสายการบิน Etihad ซึ่งมีเที่ยวบินตรงกรุงเทพฯ – อาบูดาบี หรือสายการบินที่บินเข้าอาบูดาบีได้แก่ Gulf Air และ Oman Air ทั้งนี้ อาจใช้บริษัทชิปปิ้ง ซึ่งจะมีบริษัทตัวแทนที่อยู่ปลายทางดำเนินการต่อให้ โดยส่งของมาในชื่อของตัวเอง และส่งเอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น Airwaybill หรือ Bill of Lading / Invoice / Packing List ให้บริษัทตัวแทนที่อยู่ปลายทาง (กรณีจัดส่งโดยบริษัทชิปปิ้ง บริษัทตัวแทนปลายทางจะเป็นผู้ออก Clearance Certificate ให้) เพื่อนำไปออกของจากสนามบินหรือท่าเรือ โดยต้องจ่ายค่าธรรมเนียมออกของและภาษี
1.5 การเตรียมเงินสำหรับเป็นค่าใช้จ่ายต่างๆ ในช่วงแรก
การนำดร๊าฟเข้าบัญชีธนาคารจะใช้เวลาประมาณ 2 สัปดาห์ จึงควรนำเงินสดหรือ travellers’ cheque ติดตัวมาด้วย (เป็นสกุลดอลลาร์หรือยูโร) โดยสามารถแลกเป็นเงินท้องถิ่นได้ตามเคาน์เตอร์รับแลกเงินซึ่งมีอยู่ทั่วไป ซึ่งจะได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร และบัตรเครดิตสามารถใช้ได้ตามห้างสรรพสินค้าและซุปเปอร์มาเก็ตในยูเออี
2. การดำรงชีวิตประจำวัน
2.1 สภาพทั่วไปในประเทศ
ยูเออีเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง มีชาวต่างชาติอาศัยและทำงานอยู่มาก (ราว 90%) ทั้งจากประเทศตะวันตกและเอเชีย จึงเป็นสังคมที่มีความหลากหลาย แม้ยูเออีจะเป็นประเทศมุสลิม แต่ก็เปิดกว้างในด้านสังคม ศาสนา และการดำรงชีวิตสำหรับคนที่อาศัยอยู่ในยูเออี ปัจจุบันมีคนไทยอาศัยอยู่ในยูเออีประมาณ 8,000-10,000 คน
2.2 การติดต่อชุมชนคนไทย
ช่องทางที่ท่านจะสามารถรับทราบข่าวสารสำคัญและกิจกรรมต่าง ๆ สำหรับคนไทยในยูเออีได้สะดวกรวดเร็วที่สุด คือ หน้า Facebook ของหน่วยงานและสมาคมคนไทย ดังนี้
- สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี https://www.facebook.com/thaiembassy.abudhabi
- สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ https://www.facebook.com/RTCGDXB
- สมาคมสตรีไทยในอาบูดาบี https://th-th.facebook.com/pages/Thai-Womens-Club-Abu-Dhabi/149490325095595
2.3 เครือข่ายการคมนาคม การสื่อสาร และไปรษณีย์
ยูเออีเป็นประเทศที่มีเครือข่ายโทรคมนาคมที่ดีทั้งในและระหว่างประเทศ ผู้ให้บริการมีสองเครือข่ายใหญ่ คือ Etisalat และ du ซึ่งให้บริการครบวงจรทั้งโทรศัพท์บ้าน มือถือ อินเตอร์เน็ต และโทรทัศน์เคเบิ้ล
การใช้โทรศัพท์ระหว่างหมายเลขบ้าน (landline) ภายในรัฐเดียวกันจะไม่คิดค่าโทร และมีช่วงเวลาที่คิดอัตราพิเศษสำหรับโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (ทั้งจากโทรศัพท์บ้านและมือถือ) คือ ทุกวันศุกร์ทั้งวัน และระหว่างเวลา 14.00 – 16.00 น. และ21.00 -07.00 ของทุกวัน อัตราค่าโทรศัพท์ไปประเทศไทยนาทีละประมาณ 14 บาท (ช่วงเวลาพิเศษ) และ 20 บาท (ช่วงเวลาปกติ)
โทรศัพท์มือถือเป็นที่นิยมใช้กันทั่วไปมีทั้งระบบเติมเงิน (pre-paid) และระบบเรียกเก็บค่าบริการภายหลัง (post-paid) โดยการซื้อซิมการ์ดต้องใช้บัตรประจำตัว Emirates ID เพื่อลงทะเบียน
โทรศัพท์สาธารณะส่วนใหญ่จะต้องใช้บัตรโทรศัพท์ ซึ่งมีขายตามร้านขายของชำและร้านค้าทั่วไป
ในยูเออีไม่มีการส่งไปรษณีย์ตามบ้าน แต่จะส่งตามตู้ไปรษณีย์ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ต่างๆ หรือที่เรียกว่า P.O. Box โดยผู้ใช้บริการสามารถเช่าตู้ไปรษณีย์ หรือใช้ตู้ไปรษณีย์ของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ การส่งไปรษณีย์สามารถใช้บริการของไปรษณีย์ยูเออีหรือบริษัทจัดส่งของและจดหมายด่วนเอกชนทั่วไป เช่น DHL FEDEX ARAMEX เป็นต้น
2.4 การขับรถยนต์ในรัฐอาบูดาบีและยูเออี
รถยนต์ส่วนตัวเป็นพาหนะการเดินทางที่นิยมใช้มากที่สุดในยูเออี เนื่องจากราคารถยนต์และน้ำมันค่อนข้างถูก ถนนมีสภาพดี และสภาพการจราจรไม่ติดขัดนัก อีกทั้งน้ำมันรถยนต์ในยูเออีโดยเฉพาะเบนซินมีราคาถูกเนื่องจากรัฐบาลอุดหนุนราคา
การจำกัดความเร็ว การขับรถในยูเออีจะมีป้ายจำกัดความเร็วอยู่ในทุกจุดโดยใชัหน่วยกิโลเมตร/ชั่วโมง
ในยูเออีมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดและเรดาร์จับความเร็วค่อนข้างถี่ การขับรถเกินความเร็วที่กำหนดจึงถูกจับได้ง่าย ความผิดจราจรฐานเกินความเร็ว มีค่าปรับตั้งแต่ 300 ดีแรห์มขึ้นไป นอกจากนี้ การฝ่าไฟแดงถือว่ามีความผิดร้ายแรงกว่าการขับรถเกินความเร็วจำกัด
ช่องการจราจร ช่องซ้ายสุดของถนนถือเป็นช่องการจราจรที่เร็วที่สุด ซึ่งหลายครั้งจะมีผู้ขับรถเกินความเร็วใช้ช่องดังกล่าว โดยเฉพาะบนถนนหลวง หากรถในช่องซ้ายสุดไล่ทันรถคันข้างหน้าก็มักจะขับจี้ท้ายรถและสาดไฟขอทาง ดังนั้น ท่านควรหลีกเลี่ยงการขับรถในช่องซ้ายสุดเพื่อความปลอดภัยและความสบายใจ
ค่าธรรมเนียมจอดรถ ในกรุงอาบูดาบี ที่จอดรถสาธารณะบางแห่งจะมีค่าธรรมเนียมการจอด (Mawaqif) โดยสังเกตจากขอบทางเท้า หากมีสีฟ้า-ดำ มีค่าธรรมเนียม 2 ดีแรห์ม/ชม. หากมีสีฟ้า-ขาว มีค่าธรรมเนียม 3 ดีแรห์ม/ชม. โดยมีตู้จ่ายค่าจอดรถตั้งอยู่เป็นระยะ ซึ่งต้องชำระเงินแล้วนำใบเสร็จไปวางไว้ที่กระจกหน้ารถ ทั้งนี้ ไม่มีค่าธรรมเนียมการจอดรถระหว่างเวลา 00.00-08.00 น. ของทุกวัน และทั้งวันสำหรับวันศุกร์และวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม หากจอดรถหลังเวลา 21.00 น. โปรดหลีกเลี่ยงเขตที่มีป้ายกำกับว่าเป็นที่จอดรถสำหรับผู้พำนักอาศัยในเขตนั้น อนึ่ง การจอดรถแล้วไม่จ่ายค่าธรรมเนียม หรือจอดผิดเขตในเวลาบางช่วง หากเจ้าหน้าที่พบเห็นจะมีค่าปรับ และช่วงเวลาการเก็บค่าธรรมเนียมการจอดรถในกรุงอาบูดาบีในช่วงรอมฎอนอาจแตกต่างจากช่วงปกติ ซึ่งรัฐอาบูดาบีจะประกาศให้ทราบล่วงหน้าในแต่ละปี
ค่าธรรมเนียมทางด่วน การขับรถในเมืองดูไบบนถนน Sheikh Zayed Road ซึ่งเปรียบเสมือนทางด่วนที่ตัดผ่านเมืองดูไบโดยไม่มีไฟจราจร จะมีด่านเก็บเงินอัตโนมัติอยู่เป็นระยะที่เรียกว่าด่าน Salik แต่ละด่านมีค่าธรรมเนียม 4 ดีแรห์ม ซึ่งผู้ขับรถยนต์จะต้องซื้อสติกเกอร์ Salik ติดที่ด้านในของกระจกหน้ารถ และเติมเงินให้เพียงพออยู่เสมอ (ซื้อได้ตามปั๊มน้ำมันทั่วไป)
2.5 การจับจ่ายใช้สอย
มีห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่หลายแห่งในอาบูดาบี และมีห้างร้านอื่นๆ ทั่วไป ร้านที่ขายของเฉพาะเหมือนกันมักจะอยู่ในย่านเดียวกัน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ช่าง ฯลฯ เป็นต้น สำหรับของใช้ประจำวันทั่วไปสามารถซื้อได้ตามห้างสรรพสินค้า ซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านขายของชำซึ่งกระจายอยู่ทั่วไป บางแห่งเปิดบริการ 24 ชั่วโมง
เครือซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ที่ราคาย่อมเยา ได้แก่ Abu Dhabi Co-operative Society (เรียกสั้น ๆ ว่า Co-op), Carrefour, Lulu Hyper Market และ Choitram
เครือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดเล็ก-กลางที่ราคาสูงขึ้นมาและมีผลิตภัณฑ์คุณภาพดีขึ้น ได้แก่ Spinneys, Waitrose และ Abela
สินค้าส่วนใหญ่ตามซูเปอร์มาร์เก็ตมีราคาใกล้เคียงหรือแพงกว่าในประเทศไทยเล็กน้อย ตัวอย่างราคาสินค้าคุณภาพปานกลาง เช่น
- น้ำ 1.5 ลิตร = 2 ดีแรห์ม
- นม 1 ลิตร = 5.50 ดีแรห์ม
- น้ำอัดลม 1 กระป๋อง = 2-3 ดีแรห์ม
- น้ำส้ม/น้ำแอปเปิ้ล 1 ลิตร = 6 ดีแรห์ม
- ข้าวสารกระสอบ 5 กก. = 25 ดีแรห์ม
2.6 เนื้อหมูและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เนื้อหมูหรือผลิตภัณฑ์อาหารที่มีหมูเป็นส่วนประกอบจะซื้อได้จากซูเปอร์มาร์เก็ตที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่ายเท่านั้น ซึ่งได้แก่เครือ Spinneys, Abela และ Waitrose
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ซื้อได้ตามร้านที่ได้รับอนุญาตให้จำหน่าย เช่น Spinneys และ African and Eastern เป็นต้น ผู้ซื้อจะต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถซื้อได้ โดยมีการจำกัดมูลค่าการซื้อต่อเดือนประมาณ 10 เปอร์เซ็นของเงินเดือน ผู้พำนักอาศัยในรัฐอาบูดาบีสามารถขอทำใบอนุญาตได้ที่เว็บไซต์ https://www.auhsl.ae/
2.7 วัตถุดิบอาหารไทย
ในกรุงอาบูดาบีมีร้านขายของชำเอเชีย 2-3 แห่ง คือร้าน Tropical Trading และ Queen Saba ที่มีสินค้าสำหรับประกอบอาหารไทย ผักไทย ผลไม้และอาหารกระป๋องไทยจำหน่าย แต่ไม่ได้มีในปริมาณที่มากหรือหลากหลาย สำหรับข้าวสาร และซ้อสบางอย่าง เช่น น้ำปลา น้ำมันหอย สามารถหาได้ในซุปเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป บางอย่างหากไม่สามารถหาซื้อในอาบูดาบีได้ อาจหาซื้อได้จากร้านไทยในดูไบ
2.8 การรักษาพยาบาลและมาตรฐานด้านสาธารณสุข
ยูเออีจัดว่ามีการรักษาพยาบาลและมาตรฐานด้านสาธารณสุขค่อนข้างดี มีบุคลากรทางการแพทย์จากประเทศตะวันตก เอเชีย และอาหรับประเทศอื่นๆ ตามกฎหมายแรงงานยูเออีกำหนดให้นายจ้างต้องรับผิดชอบค่าประกันสุขภาพของลูกจ้าง ภรรยาและบุตร 3 คนของลูกจ้างด้วย ซึ่งสามารถนำบัตรประกันสุขภาพไปใช้บริการตามโรงพยาบาลของรัฐและเอกชน หรือตามศูนย์อนามัยตามที่ระบุในเงื่อนไขการใช้บริการของบัตรประกันสุขภาพ
2.9 สถานที่พักผ่อนในเวลาว่างและเทศกาลต่าง ๆ
ห้างสรรพสินค้าเป็นที่ที่คนนิยมใช้เวลาพักผ่อนในช่วงวันหยุดมากที่สุด โดยช่วงเดือนมกราคมและมิถุนายนของทุกปีจะเป็นช่วงลดราคาสินค้ามากเป็นพิเศษ ระหว่าง 25-75%
อาบูดาบีมีสวนสาธารณะกระจายอยู่หลายแห่ง ในวันหยุดสุดสัปดาห์โดยเฉพาะวันศุกร์ในช่วงที่อากาศไม่ร้อนเกินไป คนนิยมที่จะพาครอบครัวออกมาปิกนิกตามสวนสาธารณะ มีสโมสรกีฬาซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นของโรงแรม จะต้องสมัครเป็นสมาชิก หรือเสียค่าใช้บริการเป็นครั้งไป และมีสโมสรสำหรับสตรีโดยเฉพาะด้วย
เทศกาลและกิจกรรมทางวัฒนธรรม กีฬา และดนตรีต่าง ๆ มักมีขึ้นในช่วงฤดูหนาวซึ่งอากาศเย็นสบาย โดยตัวอย่างรายการประจำปีที่น่าสนใจในกรุงอาบูดาบี มีดังนี้
ชื่อ |
คำบรรยาย |
ช่วงเวลาและสถานที่ |
หมายเหตุ |
Abu Dhabi Film Festival (ADFF) |
เทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ รวมกว่า 100 เรื่องในแต่ละปี |
- ตุลาคม 9 วัน - โรงแรม Emirates Palace และโรงภาพยนตร์ VOX Marina Mall |
- ค่าเข้าชม 30 AED ต่อเรื่อง - สถานที่อาจเปลี่ยนแปลงได้ในแต่ละปี |
Abu Dhabi Science Festival |
นิทรรศการวิทยาศาสตร์สำหรับเยาวชนและครอบครัว ในลักษณะซุ้มกิจกรรมหลากหลาย |
- พฤศจิกายน 10 วัน - ริมชายหาดถนน Corniche ตัดกับ Khaleej Al Arabi |
- ไม่เสียค่าเข้าชม |
Abu Dhabi Art |
นิทรรศการรวมผลงานหอศิลป์ชื่อดังทั่วโลก (เน้นภาพวาด) |
- พฤศจิกายน 4 วัน - Manarat Al Saadiyat |
- ไม่เสียค่าเข้าชม - เวลาเปิด 14.00 – 22.00 น. |
F-1 Abu Dhabi Grand Prix |
การแข่งขันรถ Formula One |
- พฤศจิกายน 3 วัน - สนาม Yas Marina Circuit |
- แพกเกจเข้าชมตั้งแต่ 1,500 AED ขึ้นไป ซึ่งรวมถึงคอนเสิร์ตนักร้องชื่อดังระดับโลก 2-3 คน |
Mubadala World Tennis Championship |
รายการเทนนิสอุ่นเครื่องซึ่งมีมือวางอันดับต้น ๆ ของโลก 6 คนร่วมแข่ง |
- ช่วงสิ้นปี/ขึ้นปีใหม่ 3 วัน - สนามเทนนิสใน Zayed Sports City |
- ค่าเข้าชมตั้งแต่ 150 AED ต่อวันขึ้นไป |
Abu Dhabi HSBC Golf Championship |
รายการกอล์ฟ European Tour ซึ่งมีมือวางอันดับต้นโลกๆ ของโลกและนักกอล์ฟไทยลงแข่ง |
- มกราคม 4 วัน - สนาม Abu Dhabi Golf Club |
- ไม่เสียค่าเข้าชม |
Qasr Al Hosn Festival |
เทศกาลแสดงวิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวยูเออีและประวัติศาสตร์ของกรุงอาบูดาบี ในลักษณะซุ้มจำลอง |
- กุมภาพันธ์ 10 วัน - วัง Qasr Al Hosn และบริเวณรอบนอก |
- ค่าเข้าชม 10 AED - เวลาเปิด 16.00 – 22.00 น. |
Abu Dhabi Festival |
เทศกาลรวมการแสดงดนตรีและระบำคลาสสิก |
- มีนาคม 4 สัปดาห์ - โรงแรม Emirates Palace |
- ค่าเข้าชมขึ้นกับประเภทการแสดง ส่วนใหญ่ตั้งแต่ 200 AED ต่อรายการขึ้นไป |
2.10 วัดและสถานที่ประกอบศาสนกิจ
ไม่มีวัดไทยในยูเออี แต่บางครั้งชุมชนชาวไทย สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี และสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบจะมีการนิมนต์พระสงฆ์หรือจัดกิจกรรมทางศาสนา เช่น การนั่งสมาธิ บ้างในบางโอกาส ซึ่งจะแจ้งข่าวให้ทราบล่วงหน้าตามช่องทางของแต่ละหน่วยงาน
นอกจากนี้ ยังสถานที่ประกอบศาสนาของศาสนาอื่น เช่น โบสถ์ศาสนาคริสต์นิกายต่างๆ อยู่ในกรุงอาบูดาบีและเมืองดูไบ
2.11 ธนาคาร การโอนเงิน การฝากเงิน การขอบัตรเครดิต
สามารถขอเปิดบัญชีธนาคารได้ด้วยตนเอง หรือบริษัทนายจ้างเป็นผู้ดำเนินการเปิดบัญชีเนื่องจากบางหน่วยงานหรือบริษัทมีการจ่ายเงินเดือนโดยผ่านธนาคาร โดยสามารถเลือกเปิดบัญชีเงินท้องถิ่นหรือเป็นดอลลาร์สหรัฐได้ และการขอบัตรเครดิตสามารถทำได้ง่าย โดยเฉพาะเมื่อเปิดบัญชีกับทางธนาคารแล้ว และหลายแห่งไม่เก็บค่าธรรมเนียมรายปี
ยูเออีให้มีการโอนเงินได้เสรี เคาน์เตอร์รับแลกเปลี่ยนเงินส่วนใหญ่จะมีบริการโอนเงินไปต่างประเทศ โดยจะคิดอัตราเป็นดอลลาร์สหรัฐ และได้อัตราแลกเปลี่ยนที่ดีกว่าธนาคาร การโอนเงินกลับประเทศไทยจะเสียค่าธรรมเนียมการโอนครั้งละ 25 ดีแรห์ม ไม่ว่าจะโอนเงินจำนวนเท่าใด
2.12 โทรทัศน์ วิทยุ และสื่อต่างๆ
การรับสัญญาณโทรทัศน์ในยูเออีทำได้ 2 แบบ คือ
- การติดกล่องรับสัญญาณจานดาวเทียม ซึ่งกล่องปกติราคาประมาณ 200 ดีแรห์ม และไม่มีค่าสมาชิกรายเดือน โดยสามารถรับสถานีช่องข่าว ภาพยนตร์ กีฬา บันเทิง ฯลฯ ทั้งท้องถิ่นและนานาชาติได้หลายช่องที่ไม่คิดค่าสมาชิก นอกจากนี้ ยังสามารถปรับเปลี่ยนกล่องให้รับสัญญาณช่อง Thai TV Global Network ได้ด้วย อย่างไรก็ตาม อพาร์ทเมนท์บางแห่งไม่มีจานดาวเทียมส่วนกลาง หรือไม่อนุญาตให้ผู้เช่าติดจานดาวเทียมส่วนตัว
- การติดเคเบิ้ลทีวี โดยมีผู้ให้บริการ 3 รายใหญ่ คือ Etisalat, du และ OSN ซึ่งมีค่าสมาชิกรายเดือนแตกต่างกันไปตามแพกเกจที่เลือก ทั้งนี้ ในส่วนของ Etisalat และ du สามารถติดเคเบิ้ลทีวีเป็นแพกเกจเสริมจากอินเตอร์เน็ตและโทรศัพท์บ้านได้ ซึ่งจะรวมแล้วจะค่าใช้จ่ายถูกกว่าติดแยกแต่ละส่วน
สถานีวิทยุ มีหลายช่องทั้งที่เป็นภาษาอาหรับและภาษาอังกฤษ
หนังสือพิมพ์ มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นภาษาอังกฤษ 4 ฉบับ ได้แก่ The National (อาบูดาบี) Gulf News, Khaleej Times และ Gulf Today (ดูไบ) มีนิตยสารและวารสารภาษาอังกฤษจำนวนมากขายตามซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป แต่ราคาจะสูงกว่าราคาหน้าปก บางครั้ง 2-3 เท่า
2.13 การซื้อสินค้าใช้แล้ว (ของมือสอง)
โดยที่ยูเออีเป็นสังคมที่มีชาวต่างชาติมาทำงานและย้ายเข้าย้ายออกอย่างต่อเนื่อง จึงมีผู้ต้องการซื้อสินค้าเพื่อตั้งต้นในการพำนักอาศัยพร้อม ๆ กับผู้ต้องการขายสินค้าเพื่อเดินทางออกจากประเทศอยู่ตลอดเวลา ซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งจะมีบอร์ดติดประกาศขายสินค้าใช้แล้ว และมีเว็บไซต์สำหรับซื้อ-ขายสินค้าใช้แล้วในยูเออีอยู่หลายเว็บ โดยเว็บที่นิยมใช้มากที่สุดในขณะนี้ คือ uae.dubizzle.com ซึ่งมีสินค้าทุกประเภท รวมทั้งที่พักอาศัย
2.14 ข้อแนะนำทั่วไป
- ตามห้างสรรพสินค้าทั่วไปในกรุงอาบูดาบีจะมีนิตยสารรายสัปดาห์รวบรวมรวมข่าวสาร ปฏิทินกิจกรรม และแนะนำร้านอาหารและสถานทีที่น่าสนใจในกรุงอาบูดาบี อาทิ Abu Dhabi Week ซึ่งเป็นนิตยสารแจกฟรี หรือ Time Out ซึ่งมีราคา 9 ดีแรห์ม
- ผู้อยู่อาศัยระยะยาวอาจสนใจซื้อหนังสือ Entertainer ซึ่งวางแผงประจำแต่ละปีปฏิทิน เป็นหนังสือรวบรวมคูปองส่วนลดลักษณะซื้อ 1 แถม 1 สำหรับร้านอาหาร ร้านกาแฟ และสถานที่ท่องเที่ยว มากกว่า 100 ร้อยแห่งในกรุงอาบูดาบีและดูไบ (แยกเมืองละ 1 เล่ม) ซึ่งในระยะยาวจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายการรับประทานอาหารและพักผ่อนนอกบ้านได้ โดยหนังสือ Entertainer Abu Dhabi มีราคา 395 ดีแรห์ม ขณะที่ของดูไบแพงกว่าเล็กน้อย
3. การจัดหาที่พักอาศัย
3.1 ลักษณะที่พักอาศัยและสภาพแวดล้อมโดยทั่วไป
อาบูดาบีเป็นเมืองขนาดปานกลางที่มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ราคาที่พักอาศัยในอาบูดาบีมีแนวโน้มสูงขึ้นตามไปด้วย ที่พักอาศัยส่วนใหญ่เป็นบ้านหรืออพาร์ทเมนท์ที่ไม่มีเฟอร์นิเจอร์ (หรือมีเฟอร์นิเจอร์เฉพาะในห้องครัว เช่น ตู้เย็น เตาแก๊ส เครื่องซักผ้า) โดยตัวเลือก serviced apartment ยังมีไม่มากนักและส่วนใหญ่เป็นโรงแรมระดับ 4-5 ดาวจึงทำให้มีราคาสูงมาก ที่คนส่วนใหญ่อาศัยจึงจะเป็นลักษณะอพาร์ทเม้นต์ซึ่งบางครั้งอยู่ในอาคารสำนักงานและที่พักอาศัยรวมกัน บางแห่งจะมียามรักษาความปลอดภัย สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย และที่จอดรถส่วนตัวให้
การเดินทางภายในตัวเมืองอาบูดาบีไม่ไกลกันมากนัก และสามารถเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัวหรือแท็กซี่ได้สะดวก ดังนั้น การเลือกทำเลที่พักจึงอยู่ที่ความพอใจของแต่ละคน
ทั้งนี้ รัฐอาบูดาบีมีกฎหมายห้ามผู้เช่าบ้านปล่อยเช่าให้ผู้อื่นแบบทำสัญญาต่อ ดังนั้น ท่านจึงควรตรวจสอบให้แน่ใจว่า ชื่อเจ้าของคู่สัญญาเช่าบ้านคือเจ้าของบ้านที่แท้จริง
3.2 วิธีหาบ้านพัก
ส่วนใหญ่ต้องใช้บริการผ่านนายหน้า เนื่องจากอาคารที่พักบางแห่งจะไม่ให้เข้าชมหากไม่มีนายหน้า โดยนายหน้าจะพาชมห้องพักจนกว่าจะได้ห้องที่เป็นที่พอใจ อย่างไรก็ตาม อาจดูตัวเลือกที่พักล่วงหน้าได้จากเว็บไซต์ uae.dubizzle.com และเว็บไซต์หาบ้านอื่น ๆ เช่น propertyfinder
3.3 อัตราค่าเช่า
โดยทั่วไปนายจ้างจะเป็นผู้รับผิดชอบจัดที่พักให้พนักงาน หรือบางบริษัทอาจให้เป็นเงินแทนค่าที่พักแล้วให้พนักงานจัดหาที่พักเองตามที่พอใจ อัตราค่าเช่าบ้านพักส่วนใหญ่คิดเป็นรายปี ราคาขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้ง ความเก่า-ใหม่ของตึก และสิ่งอำนวยความสะดวกที่มีให้ เช่น ที่จอดรถส่วนตัว สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย บริการซ่อมบำรุง เป็นต้น
ตัวอย่างค่าเช่าบ้านพักในกรุงอาบูดาบี (ดีแรห์ม/ปี - ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์และค่าน้ำค่าไฟ)
|
สตูดิโอ (< 30 ตร.ม.) |
1 ห้องนอน (30-70 ตร.ม.) |
2 ห้องนอน (70-140 ตร.ม.) |
3 ห้องนอน (>140 ตร.ม.) |
คุณภาพต่ำ |
25,000 |
40,000 |
60,000 |
80,000 |
คุณภาพดี |
70,000 |
120,000 |
180,000 |
200,000 |
3.4 การทำสัญญา ค่านายหน้า และค่ามัดจำความปลอดภัย
นายหน้าส่วนใหญ่คิดค่าบริการประมาณร้อยละ 5 ของอัตราค่าเช่าบ้านพักในการทำสัญญาเช่าบ้านพักครั้งแรก (การต่อสัญญาปีถัด ๆ ไป ไม่ต้องเสียค่านายหน้า) ทั้งนี้ หากพอใจกับที่พักและคิดว่าจะอยู่เกินกว่า 1 ปี ก็อาจเจรจากับนายหน้าหรือเจ้าของพักเพื่อขอทำสัญญาครั้งละ 2 ปีหรือนานกว่านั้นแต่ขอจ่ายเป็นรายปี เพื่อป้องกันการขึ้นราคาของบ้านพักในปีถัดไป
นอกจากนี้ เจ้าของที่พักส่วนใหญ่จะเรียกเก็บค่ามัดจำความปลอดภัย (Security deposity) ในการทำสัญญาเช่าบ้านพักครั้งแรก จำนวน 5,000 ดีแรห์ม และจะคืนให้ผู้เช่าหลังออกจากที่พัก เมื่อตรวจสอบสภาพบ้านพักแล้วปรากฏว่าไม่มีความเสียหายที่จำเป็นต้องซ่อมบำรุง
3.5 การขอติดตั้งโทรศัพท์และสาธารณูปโภคอื่นๆ
เมื่อทำสัญญาเช่าบ้านเรียบร้อยแล้ว สามารถนำสำเนาสัญญาเช่าบ้านกับเอกสารแสดงตัวไปติดต่อหน่วยงานด้านประปาและไฟฟ้าอาบูดาบี เพื่อให้ดำเนินการติดตั้งไฟฟ้าและน้ำประปาภายใต้ชื่อของผู้เช่าบ้าน เช่นเดียวกับการขอติดตั้งโทรศัพท์และอินเตอร์เน็ต คือต้องนำสำเนาสัญญาเช่าบ้านกับเอกสารแสดงตัวไปติดต่อองค์การสื่อสารยูเออี (Etisalat)
ทั้งนี้ ในอาคารอพาร์ทเมนท์บางแห่งซึ่งใช้ระบบ Central Air Condition ค่าไฟฟ้าที่ผู้เช่าต้องจ่ายจะไม่รวมไฟฟ้าที่ใช้สำหรับเครื่องปรับอากาศ (ซึ่งเจ้าของอาคารเป็นผู้จ่าย)
3.6 การซื้อที่พักอาศัย
ในระยะหลังรัฐอาบูดาบีอนุญาตให้ชาวต่างชาติสามารถซื้อที่พักอาศัยได้เขตที่มีการก่อสร้างใหม่ เช่น Al Raha, Al Reem และ Saadiyat Island เป็นต้น โดยมีระยะเวลาถือครองกรรมสิทธิ์ 99 ปี อย่างไรก็ตาม ราคาต่อตารางเมตรในเขตดังกล่าวค่อนข้างสูงเมื่อเีทียบกับราคาอสังหาริมทรัพย์ในกรุงเทพฯ และขึ้นลงได้รวดเร็วตามแนวโน้มตลาด
4. การซื้อรถยนต์และทำใบขับขี่
4.1 การซื้อรถยนต์
รถยนต์ในยูเออีมีราคาถูกกว่าเมืองไทยประมาณร้อยละ 30-50 แล้วแต่ยี่ห้อ เนื่องจากไม่มีภาษีสรรพสามิต ส่วนใหญ่สามารถซื้อรถยนต์ได้จากบริษัทตัวแทนท้องถิ่นทั่วไป สำหรับในกรุงอาบูดาบี ผู้ที่สนใจซื้อรถยนต์มือสองสามารถชมสินค้าได้ที่ Motor World ซึ่งเป็นแหล่งรวมรถยนต์มือสอง อยู่ใกล้กับสนามบินอาบูดาบี
4.2 การนำเข้ารถยนต์
การนำเข้าสามารถทำได้เหมือนการส่งของมาทางเรือ หรือหากต้องการนำเข้าผ่านบริษัทตัวแทนท้องถิ่นก็สามารถทำได้ โดยจ่ายค่าบริการและค่าธรรมเนียมและภาษีตามปกติ
4.3 การทำประกันรถยนต์
สามารถเลือกซื้อประกันจากบริษัทประกันต่างๆ ได้ โดยการทำประกันชั้นหนึ่ง รถยนต์จะ ต้องมีอายุไม่เกิน 5 ปี หากรถอายุเกิน 5 ปี จะต้องทำประกันชั้น 3 เท่านั้น
ประกันแต่ละครั้งมีอายุ 13 เดือน และค่าเบี้ยประกันปกติจะอยู่ระหว่าง 4-6% ของมูลค่ารถยนต์ในขณะนั้นตามที่บริษัทประเมิน
4.4 การทำใบอนุญาตขับขี่รถยนต์
โดยจะต้องมีหนังสือจากบริษัทนายจ้างหรือสปอนเซอร์ถึงสำนักงานจราจร เพื่อขอทำใบขับขี่ ใบขับขี่มีอายุครั้งละ 10 ปี หากมีใบขับขี่ของไทยสามารถนำใบขับขี่มาแปลเป็นภาษาอาหรับได้ที่สถานเอกอัครราชทูต เพื่อนำไปเป็นเอกสารประกอบการขอทำใบขับขี่ยูเออีได้โดยสามารถลดขั้นตอนการสอบภาคปฎิบัติ บางอย่างได้
ทั้งนี้ ท่านที่มี Residence Permit ไม่สามารถใช้ใบขับขี่สากลในยูเออีได้ (ใช้ได้เฉพาะนักท่องเที่ยว)
4.5 การขายรถยนต์
เมื่อสามารถตกลงซื้อขายรถยนต์แล้ว ต้องส่งเอกสารรถยนต์ สำเนาหนังสือเดินทาง บัตรประจำตัว สำเนาใบขับขี่ของผู้ซื้อและผู้ขาย พร้อมหนังสือขอโอนรถยนต์ให้กับผู้ซื้อ ไปติดต่อดำเนินการ ที่สำนักงานจราจร ทั้งนี้ ผู้ซื้อจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าธรรมเนียมทะเบียน ป้ายใหม่ และค่าประกันรถยนต์ในชื่อของผู้ซื้อ แต่หากมีค่าปรับจากการขับขี่ผิดกฎจราจรของผู้ขาย ผู้ขายต้องรับผิดชอบก่อนการโอนรถยนต์
---------------------------------------------------
สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี
เมษายน 2561