ภูมิหลังและสถานะปัจจุบัน

ภูมิหลังและสถานะปัจจุบัน

วันที่นำเข้าข้อมูล 18 มิ.ย. 2555

วันที่ปรับปรุงข้อมูล 30 พ.ย. 2565

| 5,049 view

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า
ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม
ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย
การแลกเปลี่ยนการเยือน
ผู้แทนทางการทูต


ความสัมพันธ์ทั่วไป

- ไทยและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2518 โดยไทยเปิดสถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองดูไบ เมื่อเดือนมกราคม 2535 และเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2537 ส่วนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เปิดสถานเอกอัครราชทูตฯ ที่กรุงเทพฯ เมื่อเดือนเมษายน 2541

- สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นประตูการค้าของไทย และเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทยในตะวันออกกลาง ตั้งแต่ช่วงปี 2541 เป็นต้นมา โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันในปี 2550 คิดเป็นมูลค่ากว่า 9,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยไทยขาดดุลการค้า สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศ เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ ผ้าผืน อัญมณีและเครื่องประดับ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น สินค้านำเข้าสำคัญจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้แก่ น้ำมันดิบ สินแร่โลหะ เศษโลหะ น้ำมันสำเร็จรูป เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินและทองคำแท่ง และเคมีภัณฑ์ เป็นต้น

- ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอันดับหนึ่งจากกลุ่มประเทศตะวันออกกลางและประเทศอื่นๆ ในโลก โดยคิดเป็นร้อยละ 33 ของการนำเข้าทั้งหมด ในปี 2548 ไทยนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นมูลค่า 5,695.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2547 ถึงร้อยละ 54.4 ประเทศไทยโดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นำเข้าน้ำมันดิบจาก Abu Dhabi National Oil Company (ADNOC) มากเป็นอันดับหนึ่ง โดยมีสัญญาการซื้อขายน้ำมันแบบ G to G ตั้งแต่ปี 2537 เป็นต้นมา

- เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2550 สภาเทศบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้มีมติรับรองตราฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ในการรับรองโรงฆ่าไก่ที่ถูกต้องตามหลักศาสนา และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในประเทศไทย ซึ่งมติดังกล่าวส่งผลให้ประเทศไทยสามารถส่งออกไก่ต้มสุกฮาลาลไปยังสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ และมติรับรองดังกล่าวนับเป็นการเปิดโอกาสสำหรับสินค้าฮาลาลไทยในตะวันออกกลาง เนื่องจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นศูนย์ส่งออกต่อฮาลาลที่สำคัญที่สุดในภูมิภาคไปยังประเทศอื่นๆ ในตะวันออกกลาง แอฟริกา และกลุ่มประเทศ CIS

- ภาคเอกชนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เริ่มเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น เช่น รับสัมปทานขุดเจาะก๊าซ/และน้ำมันในอ่าวไทย ลงทุนร่วมกับบริษัทไทย เช่น บริษัทผลิตพรม (ไทปิง) ขณะที่ภาคเอกชนไทยยังเข้าไปลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์น้อยราย แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ภาคการบริการทางการแพทย์ เช่น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ และภาคการก่อสร้าง เช่น บริษัทอิตัล-ไทย ได้เริ่มเข้าไปลงทุนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และบริษัทเอกชนรายใหญ่ เช่น บริษัทเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทสยามซีเมนต์ ได้เข้าไปมีบริษัทตัวแทนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ปัญหาและอุปสรรคทางการค้า

-ปัจจุบันสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ออกกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจบริการที่เป็นข้อจำกัดของการเข้าสู่ตลาด ได้แก่ (1) มาตรการจำกัดสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติได้ไม่เกินร้อยละ 49 (2) การทำธุรกิจทุกชนิดต้องมีชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นผู้อุปถัมภ์ (local sponsor) กล่าวคือเป็นเจ้าของทะเบียนการค้า (trade license) โดยชาวต่างชาติที่ร่วมดำเนินธุรกิจเป็นเพียงผู้บริหารจัดการ โดยต้องจ่ายค่าอุปถัมภ์ในอัตราที่ตกลงกันทุกปี

-ภาคเอกชนไทยบางส่วนยังรู้สึกไม่คุ้นเคยและขาดข้อมูล อีกทั้งความแตกต่างด้านวัฒนธรรม สังคม ประเพณี และธุรกิจการค้า ทำให้ขาดแรงจูงใจที่จะเข้าไปทำการค้าในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และโดยที่ชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์มักปล่อยให้การบริหารจัดการบริษัทเป็นหน้าที่ของชาวต่างชาติ โดยเฉพาะผู้จัดการฝ่ายต่างๆ จึงมักจะยินดีที่จะทำธุรกิจกับบริษัทที่บริหารโดยชนชาติเดียวกับตนเป็นลำดับแรก อาทิ อินเดีย ปากีสถาน อียิปต์ ดังนั้น หากฝ่ายไทยไม่สามารถเข้าถึงผู้ถือหุ้นใหญ่หรือเจ้าของกิจการที่เป็นชาวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ โอกาสที่ไทยจะเจาะตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ย่อมมีน้อยลง

- นอกจากนี้ แม้สินค้าของไทยจะมีคุณภาพดี แต่ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ในระดับเดียวกับสินค้าจากจีนและอินเดีย ดังนั้น สินค้าไทยที่มีคุณภาพสูงกว่าและราคาสูงกว่า จึงอาจพบข้อจำกัดในการเข้าไปแข่งขันในตลาดของประเทศนี้ สำหรับสินค้าเกษตร คู่แข่งสำคัญคือ ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน อินเดีย และปากีสถาน

ความสัมพันธ์ทางสังคมและวัฒนธรรม

ด้านการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เดินทางมาไทยมากเป็นอันดับสองของภูมิภาคตะวันออกกลาง (รองจากอิสราเอล) มีจำนวนถึง 98,000 คน ในปี 2550 โดยเป็นชาวเอมิเรตส์ 73,000 คน โดยนักท่องเที่ยวสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์จำนวนมากนิยมเดินทางมาตรวจสุขภาพและรักษาพยาบาลในไทยทุกปี เนื่องจากค่ารักษาพยาบาลย่อมเยากว่าประเทศในยุโรป และมักใช้โอกาสเดินทางมาพักผ่อนด้วย โดยสหรัฐอาหรับ- เอมิเรตส์ได้ส่งเจ้าหน้าที่มาประจำการที่สถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ประจำประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ป่วยที่รัฐส่งมารับการรักษาพยาบาล สำหรับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็เป็นประเทศที่ได้รับความนิยมจากคนไทยเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับหนึ่งในตะวันออกกลาง

ด้านแรงงาน ปัจจุบันมีคนไทยอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ประมาณ 12,000 คน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานฝีมือ และทำงานในภาคอุตสาหกรรม ปิโตรเคมี ธุรกิจบริการ และธุรกิจก่อสร้าง ส่วนมากทำงานในรัฐดูไบและรัฐอาบูดาบี ไม่ปรากฏว่ามีแรงงานไทยอาศัยอยู่อย่างผิดกฎหมายในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อย่างไรก็ดี ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์กำลังขยายตัวอย่างมาก ทำให้ความต้องการแรงงานในภาคการก่อสร้างและการบริการเพิ่มขึ้น ประกอบกับนโยบายสร้างความสมดุลของแรงงานที่เข้าไปในประเทศที่พยายามลดจำนวนแรงงานจากภูมิภาคเอเชียใต้ จะเป็นโอกาสอันดีต่อแรงงานไทย โดยเฉพาะแรงงานทางด้านการบริการในการเข้าไปทำงานในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

ความตกลงที่สำคัญๆกับไทย

- ความตกลงว่าด้วยการบริการเดินอากาศระหว่างกัน ลงนามเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2533

- ความตกลงว่าด้วยการยกเว้นการเก็บภาษีซ้อน ลงนามเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2543 และมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 28 ธันวาคม 2543

- ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และวิชาการ ลงนามเมื่อวันที่ 22 เมษายน 2550

- บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน ลงนามเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2550

- กรมสุขภาพสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจกับโรงพยาบาลกรุงเทพ ในเดือนสิงหาคม 2547 เป็นส่วนหนึ่งของแผนการพัฒนาบริการทางการแพทย์ของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกรมสุขภาพฯ จะส่งผู้ป่วยไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลกรุงเทพ และบันทึกความเข้าใจดังกล่าวจะช่วยให้มีการแลกเปลี่ยนความร่วมมือและผู้เชี่ยวชาญระหว่างกัน

- The Emirates Securities and Commodities Authority (ESCA) ได้ลงนามบันทึกความเข้าใจด้านความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2550

การแลกเปลี่ยนการเยือน

ฝ่ายไทย

พระราชวงศ์

- วันที่ 11 - 15 มีนาคม 2541 สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์เสด็จฯ เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นการส่วนพระองค์

 

- วันที่ 25 เมษายน 2551 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ เยือนดูไบ ภายหลังจากทรงเข้าร่วมการประชุม UNCTAD 12 ที่กาน่า

 

รัฐบาล

- เดือนธันวาคม 2523 นายวิศิษฐ์ ตันสัจจา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เดินทางเยือนซาอุดีอาระเบีย อียิปต์ คูเวต โอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- วันที่ 5 กรกฎาคม 2530 นายเฉลียว วัชรพุกก์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างไทยกับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ รวมทั้งเยี่ยมคนงานไทย

- วันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2534 ม.ร.ว. เกษมสโมสร เกษมศรี รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เดินทางเยือนดูไบ เพื่อศึกษาแนวทางในการสร้างความสัมพันธ์

- วันที่ 15 - 19 ตุลาคม 2536 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นำคณะผู้แทนและนักธุรกิจเยือนดูไบ เพื่อขยายลู่ทางความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว

- วันที่ 6 - 8 มีนาคม 2540 นายเกียรติชัย ชัยเชาวรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทย นำคณะเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อดูงานด้านกิจการไฟฟ้า

- วันที่ 8 - 9 พฤษภาคม 2540 นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมนำคณะเดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพื่อศึกษาดูงานระบบงานศาล

- เดือนมิถุนายน 2541 ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ย่างเป็นทางการ

- วันที่ 15 - 16 กุมภาพันธ์ 2547 ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 9 - 10 เมษายน 2547 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และคณะ เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อย่างเป็นทางการ

- วันที่ 25 มิถุนายน 2548 นายปรีชา เลาหพงศ์ชนะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เดินทางไปศึกษาลู่ทางการค้าการลงทุนของไทย ณ เมืองดูไบ

- วันที่ 20 พฤศจิกายน 2548 ดร. สุรเกียรติ์ เสถียรไทย เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และได้เข้าเฝ้าและหารือข้อราชการกับ Sheikh Hamdan bin Zayed Al Nahyan รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีแห่งรัฐ ด้านการต่างประเทศ

- วันที่ 27 มิถุนายน – 1 กรกฎาคม 2549 นายอนุทิน ชาญวีระกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เดินทางเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Humaid Mohamed Al Qutami รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- วันที่ 2 กรกฎาคม 2549 นายวิเศษ จูภิบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Mohammad bin Dhaen Al Hamli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- วันที่ 8 - 9 กุมภาพันธ์ 2550 ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Mohammad bin Dhaen Al Hamli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- วันที่ 22 – 24 เมษายน 2550 นายนิตย์ พิบูลสงคราม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan มกุฎราชกุมารแห่งรัฐอาบูดาบี H.H. Sheikh Mohammed bin Rashid Al Maktoum รองประธานาธิบดี นายกรัฐมนตรี และเจ้าผู้ครองรัฐดูไบ และ H.H. Sheikh Abdullah bin Zayed Al Nahyan รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

- วันที่ 5-7 ตุลาคม 2550 นายอภัย จันทนจุลกะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเยือนเมืองดูไบเพื่อเยี่ยมคนงานไทย

- วันที่ 6-7 พฤษภาคม 2551 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ท่องเที่ยวและกีฬาได้เดินทางมาเยือนเมืองดูไบเพื่อเข้าร่วมงาน Arabian Travel Market 2008 และเป็นประธานพิธีเปิดสำนักงาน ททท. ที่เมืองดูไบ

- วันที่ 16-19 พฤษภาคม 2551 นางอุไรวรรณ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และพบหารือกับ H.E. Saqr Ghobash รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ พร้อมทั้งได้มีการประชุม Joint Committee ครั้งที่ 1

ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

พระราชวงศ์

- ปี 2546 H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan รองมกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบีเสด็จเยือนไทยเป็นการส่วนพระองค์

- วันที่ 12 - 13 มิถุนายน 2549 H.H. Sheikh Mohammed bin Zayed Al Nahyan มกุฎราชกุมารรัฐอาบูดาบี และ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
เสด็จฯ ร่วมพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รัฐบาล

- เดือนพฤษภาคม 2520 Sheikh Ahmed Khalifa Al Suweidi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นาย Hamdan bin Rashid Al Maktoum รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและอุตสาหกรรม และนาย Moma Saeed Al Oteiba รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการปิโตรเลียมและทรัพยากรของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เดินทางเยือนไทยตามคำเชิญของนายอุปดิศ ปาจรียางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- เดือนกุมภาพันธ์ 2543 H.H. Sheikh Fahim bin Sultan Al Qassimi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและการค้าสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ร่วมการประชุม United Nations Conference on Trade and Development ครั้งที่ 10 ที่กรุงเทพฯ และได้หารือทวิภาคีกับ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

- วันที่ 21 - 23 มีนาคม 2549 H.E. Mohammad bin Dhaen Al Hamli รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยือนไทยเพื่อร่วมงาน Asian Energy Dialogue

 

- วันที่ 31 ตุลาคม – 3 พฤศจิกายน 2550 H.E. Dr. Ali Bin Abdullah Al Kaabi รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เยือนไทยเพื่อร่วมลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงาน

 

บุคคลสำคัญอื่นๆ

- วันที่ 8 พฤษภาคม 2550 นาย Sultan Ahmed Bin Sulayem สมาชิกสภาบริหารแห่งรัฐดูไบ และประธานกลุ่มบริษัท Dubai World เยือนประเทศไทยและได้เข้าเฝ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา พร้อมทูลเกล้าฯ ถวายเงิน จำนวน 260,000 เหรียญสหรัฐฯ

- วันที่ 22 - 24 พฤษภาคม 2551 นาย Sultan Ahmed bin Sulayem ประธานกลุ่มบริษัท Dubai World ได้ไปเยือนประเทศไทยเพื่อกล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ Evolutionary Reform : The Dubai Experience พร้อมทั้งเข้าเยี่ยมคารวะนายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรีในวันที่ 24 พฤษภาคม 2551

 

ผู้แทนทางการทูต

ฝ่ายไทย

Royal Thai Embassy
East 18/1, District 80, Al Muroor Road,
4th Street, Opposite Al Falah Plaza, (between 9th and 11th Street)
P.O. Box 47466, Abu Dhabi,

United Arab Emirates.
Tel. (971-2) 6421772
Fax. (971-2) 6421773
E-mail : [email protected]

 

Royal Thai Consulate-General

Villa 45 (behind EPPCO and Pizza Hut), Al Wasl Road, Jumeirah 2,

P.O. Box 51844, Dubai,

United Arab Emirates

Tel. (971 4) 349 2863

Fax. (971 4) 349 0932

E-mail: [email protected]

 

Royal Thai Consulate-General (Commercial Section)

Suite 407, Deira Tower, Al Nasser Square,

P.O. Box 1083, Dubai

United Arab Emirates

Tel. (971 4) 228 4553, 228 4607

Fax. (971 4) 222 0934

E-mail: [email protected]

 

สำนักงานไทยอื่นๆ ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

Tourism Authority of Thailand (Middle East Representation)

Suite 2102, Al Attar Tower, Sheikh Zayed Road

P.O. Box. Dubai,

United Arab Emirates

Tel. (971 4) 325 0185-6

Fax. (971 4) 325 0187

E-mail: [email protected]

 

Thai Airways International

No. 1 Bu Haleeba Plaza, Al Muraqqabat Road,

P.O. Box. 13142, Dubai

United Arab Emirates

Tel. (971 4) 268 1701-g2

Fax. (971 4) 268 1703

E-mail: [email protected]

ฝ่ายสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์

The Embassy of the United Arab Emirates,
82 Saeng Thong Thani Bldg., 25th Fl.,
North Sathorn Road,
Bangkok 10500
Tel: 0-2639-9820-4
Fax: 0-2639-9818
Consular Fax: 0-2639-9800